แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย kroopob » พฤหัสฯ. 20 ธ.ค. 2012 8:30 am

เคยเจอเรื่องเด็กกลัวรถครับ
ลำบากนะครับ เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนก็ต้องใช้รถ

สัมพันธภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเอาชนะความกลัว
(เมื่อวานวงขอนแก่นเราเรียนรู้เรื่องนี้กันทั้งวัน อย่างที่พ่อฟ้าใสมา post ไว้)

เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจกันครับ แต่ผมมีปัญหาสุขภาพ อยู่หน้าจอเพื่อพิมพ์นานๆ ไม่ได้

ถ้าคุณแม่มาได้ จะมาเจอกัน มาเฉพาะคุณแม่เพื่อคุยเรื่องนี้กันก็ได้ครับ
ถ้าไม่มาก็รบกวนแจ้งร.พ.ด้วย เพื่อให้คิวกับคนอื่น

ช่วงนี้ถ้า"จำเป็น" ต้องขึ้นรถกันจริงๆ
แนะนำให้ใช้ขอความช่วยเหลือจากคันอื่น หรือแท็กซี่ ก่อนเถอะครับ
ข้อดี : คุณแม่จะช่วยเขาได้เต็มที่ ระหว่างนั่งรถ และปลอดภัยกว่าที่ไม่ต้องขับเอง
ข้อเสียคือ รถแท็กซี่แต่ละคัน เสี่ยงต่อ sensory มากมายจริงๆ ทั้งฝุ่น ความเก่าใหม่ กลิ่น การตกแต่ง เสียงคนขับ วิธีขับ ฯลฯ ดูดีๆ นะครับ อาจทำให้ยากขึ้น

แต่ถ้ายังไม่จำเป็นผมว่าเพลาๆ ความพยายามในการบังคับ (หรือหลอก) ให้ขึ้นรถไปก่อน
จนเราเข้าใจหลักการ และมองรายละเอียดได้มากพอ ก็น่จะดีนะครับ
kroopob
 
โพสต์: 61
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 10 ต.ค. 2011 1:42 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย ta-mom » อาทิตย์ 23 ธ.ค. 2012 4:11 pm

ขึ้นไม่ได้ซักคันเลยค่ะ กลัวหมด พอดีที่บ้าน ตจว มีรถของญาติๆด้วย ไม่เอาเลยค่ะ
ก็คงต้องงดไปไหนมาไหนก่อนค่ะช่วงนี้ เล่นเพิ่มสัมพันธภาพกันที่บ้านไปเรื่อยๆก่อน ถึงจุดนึงเค้าคงสามารถฝ่าความกลัวออกมาได้เพราะความรัก

เรื่องคิวเดี๋ยวจะโทรไปคืนคิวค่ะ
ta-mom
 
โพสต์: 61
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 02 ก.พ. 2012 3:07 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย ta-mom » พฤหัสฯ. 06 มิ.ย. 2013 2:30 pm

สวัสดีค่ะ อาจารย์กิ่งแก้ว ครูพบ คุณหมอแก้วตา (ถ้าคุณหมอได้เข้ามาอ่านนะคะ) 

หายไปนานเลยค่ะ แต่ยังทำงานอยู่เหมือนเดิมค่ะ วันนี้จะมาเล่าพัฒนาการของน้องตาให้ฟังค่ะ (ยาวหน่อยนะคะ)

ขอเริ่มต้นจากสิ่งติดขัดที่ใหญ่ที่สุด คือเรื่องกลัวการขึ้นรถ ก็ยังกลัวมากเหมือนเดิม คือถ้ารถจอดอยู่เฉยๆ เธอก็เข้าไปจับไปคลำได้ แต่ถ้าประตูรถเปิดค้างไว้ เธอจะรีบวิ่งเข้าไปปิดทันที แล้วก็วิ่งจู๊ดหนีไป หรือถ้าใครพูดคำว่า ขึ้นรถ เมื่อไหร่ เธอจะวิ่งหนีอีกเหมือนกันค่ะ พอมีใครสตาร์ทรถ ลูกก็จะบอก "กลัวรถๆ" แล้วก็ทำท่ากลัว (เอามือกอดอก) แม่ก็ได้แต่ทำงานอารมณ์ปลอบเขาไปค่ะ เสียดายเล็กน้อยเพราะตอนนี้น้องหัดเล่นสมมติง่ายๆได้บ้างแล้ว และสื่อสารด้วยท่าทางและคำพูดได้พอสมควร แต่ยังไม่มีโอกาสพาไปเล่นกับเด็กๆ คนอื่น (ลักษณะบ้าน ตจว จะอยู่ห่างกันมาก น้าบ้านเป็นถนนสายหลัก มีรถวิ่งเยอะมาก เดินออกไปอันตรายสุดๆ) ถ้าได้ออกไปพบประสบการณ์แปลกใหม่น่าจะมีเรื่องเล่นมากขึ้น แต่ไม่เป็นไรค่ะ แม่คิดว่า ถ้าไม่ออกไป ก็เอาเรื่องในบ้านนี่แหละ รีดประโยชน์ออกมาให้มากที่สุด ไว้เรื่องรถก็ค่อยๆ หาทางกันต่อไป ( plan A ว่าจะเริ่มจากลองให้ฟังเสียงสตาร์ทรถให้ค่อยๆชิน พานั่งกระบะท้ายรถกระบะ plan B อาจเปลี่ยนไปลองนั่งมอเตอร์ไซค์ ลูกอาจชอบ open air ไม่ชอบที่แคบ plan ต่อๆไป ค่อยคิดใหม่)

และก็ยังโชคดีที่บ้านมีบริเวณกว้าง และมีหลายอย่างเหมาะกับ SI แม่ก็จัดหาประยุกต์เอาค่ะ เช่น เอาไม้กระดานยาวๆ พาดยางรถยนต์สองอันเป็นคานทรงตัว เอาไม้กระดานพาดข้ามท้องร่องเตี้ยๆ เอายางรถยนต์มาทำชิงช้า เอาอิฐบล๊อกมาเรียงกัน เป็นทางเดิน มีกองทราย มีสนามหญ้า พื้นดิน หินลูกรัง ไว้สำหรับระบบสัมผัส มีต้นไม้เยอะ มีต้นที่เป็นผลไม้ให้เด็ดชิม เช่น ชมพู่ มะยม เชอรี่ มีมะพร้าว มะม่วง ให้สอย มีเสียงต่างๆมากมาย (ออกจะเป็นเสียงรบกวน) ที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น รถวิ่งตลอด มอเตอร์ไซค์ซิ่ง รถขายของ หาเสียง ลำโพงงานวัด เพื่อนบ้านร้องคาราโอเกะ(เปิดลำโพง) เสียงเลื่อยตัดไม้ สว่านไฟฟ้า (เป็นอาชีพของสมาชิกในบ้านต้องใช้ของพวกนี้) นอกจากนี้ก็ยังมีเสียงนก เสียงหมาแมว เสียงจั๊กจั่น คนในบ้านคุยเสียงดังๆ แต่ไม่ได้มาพร้อมๆกันนะคะ ผลัดๆกันมา ถ้าอันไหนเขาไม่ไหวจริงๆ จะร้องไห้ แล้วเอามือเราไปปิดหู เช่น เสียงฟ้าร้อง ค่ะ แต่ช่วงนี้ ก็จะทนได้มากขึ้น จากแต่ก่อนกลัวก็วิ่งหนี ก็เป็นกลัววิ่งหาพ่อแม่ เดี๋ยวนี้เสียงเดิมๆ ถ้าเล่นกันอยู่เค้าจะหันมามองแม่ ทำตาโต บางครั้งเค้าจะบอกเองว่า "เสียงดัง" แม่จะบอกเขาว่า "เสียงรถดังเนอะ กลัวเลย" แล้วก็กอดเค้าไว้ แป๊บเดียวก็เล่นต่อได้ บางทีก็เล่นจนไม่สนเสียงดังๆเลยก็มีค่ะ

ตอนนี้ เนื่องจากน้องพอจะพูดบอกความต้องการง่ายๆ ได้บ้างแล้ว การทำ FT  ก็จะพยายามดูจังหวะ ถ้าสูงสุดอยูที่ขั้นไหน ก็เล่นขั้นนั้นและพยายามดึงรอบให้นานที่สุด การตื๊อ ก็จะต๊ือด้วยคำพูด ถ้าตอบไม่ได้จะให้ตัวเลือก จะตื๊อเรื่องการพูดเพราะว่า บางคำเหมือนพูดตามและเหมือนเป็นสคริปต์อ่ะค่ะ และจะเน้นเพิ่มเติมภาษากาย (จะทำตามตัวอย่างในหนังสือคู่มือ เก็บตามกิจกรรมตัวอย่างค่ะ ตอนนี้ทำตาม ดช เอ ดญ บี ดช ซี ไปพร้อมๆกัน แล้วแต่ว่า ช่วงไหน ลูกจะพร้อมแบบไหน) และเน้นการริเริ่มจากลูก เน้นบอกอารมณ์ความรู้สึก (เน้นๆๆ เน้นทุกอย่างเลย 555) พยายามให้เขามีปฏิสัมพันธ์กับทุกๆคนในบ้าน ชอบเล่นกะอากู๋และอากิ๋ม แต่เขาน่าจะกลัวคนแก่ เห็นจะไม่ค่อยชอบมองหน้าคุณก๋ง กะคุณยาย อาจจะกลัวหน้าเหี่ยวๆ ดีนะ ที่แม่หน้าตึง  (ตึ่งโป๊ะ แหมกล้าเล่นนะ 555) แต่เมื่อวานแม่กับปะป๊าหิวข้าว เลยทิ้งให้นั่งปั้นดินน้ำมันกับก๋ง พอได้นะคะ ยังสั่งก๋งให้ปั้นนู่นปั้นนี่ให้อยู่เลย

ตัวอย่างการเล่นของน้องช่วงนี้ค่ะ 
1. ปั้นแป้งโดว์ : ช่วงนี้ที่บ้านมีลูกหมามาใหม่สีขาว ชื่อว่า จูเนียร์ ลูกจะชอบเล่นด้วยมาก แล้วเจ้าจูเนียร์ก็ชอบงับกางเกงลูกเล่น ก็จะเล่นกันตอนเย็นๆ ประจำ เป็นการวิ่งออกกำลัง พอตกกลางคืนก็มาปั้นแป้งโดว์ เล่นกัน
ลูก : ปั้น โบ้โบ้ 
แม่ : อะไรนะ 
ลูก : ปั้น โบ้โบ้
แม่  : อ้อ ปั้นโบ้โบ้ นี่เอง แล้วจะปั้นจูเนียร์ หรือ ทิงแดง ล่ะ (มีหมาสองตัว) 
ลูก  : เหนี่ย
แม่ : หืม
ลูก : เหนี่ย
แม่ : อ๋อ จู.......(ลากเสียงยาวๆ)
ลูก : จูเนียร์
แม่ : ได้ๆ ปั้นจูเนียร์กัน (แล้วแม่ก็เอาแป้งสีเหลืองมาปั้น)
แม่ : จูเนียร์มาแล้ว นี่แหนะ จูเนียร์งับเป้าเลย (เอาหมาที่ปั้นมาทำท่าวิ่งเข้าไปหาลูก)
ลูก : (หัวเราะคิกคักชอบใจ)
เล่นกันอีกสองสามรอบลูกก็วิ่งตื๋อไปเปิดตู้เย็น
แม่ : เอาอะไร หิวเหรอ
ลูก : (ชี้ไปที่กล่องแป้งโดว์สีขาว)
แม่ : อ้อ จะเอาสีขาว อ๋อ จูเนียร์สีขาวเนอะ
ลูก : ขาว
แม่ : โอเค เดี๋ยวหยิบให้
เสร็จแล้วก็ไปปั้นหมาสีขาวเล่นกันอีกหลายรอบก่อนไปปั้นอย่างอื่น

2. เข็นรถจักรยานสามล้อ : ที่บ้านมีสามล้อเล็ก แต่ลูกยังปั่นไม่ได้ (กำลังขาอาจจะยังไม่พอ) เค้าจะชอบให้พ่อหรือแม่ เอาไม้มาดันเข็นให้ แล้วตัวเองก็แค่วางเท้าบนที่ปั่น (แหม่ สบายไปหน่อยนะ 55)
ลูก : เดินไปลากสามล้อเล็กมา (แม่นั่งรอ)
แม่ : ทำอะไรคะ
ลูก : เข็นรถ
แม่  : เข็นจักรยาน หรือเข็นรถ
ลูก  : เข็น จัก ยาน
แม่ : เหรอ จักรยานอะไร
ลูก : จัก ยาน สีแดง (เพลงพี่เสก โลโซ แม่เคยร้องให้ฟัง)
แม่ : เอ๊ะ จักรยานสีแดง หรือ จักรยานหมีน้อย (ที่จักรยานมีสติ๊กเกอร์รูปหมีติดไว้)
ลูก : จัก ยานหมีน้อย
แม่ : แล้วให้ใครเข็นล่ะ
ลูก : แม่เข็น (ไม่มองหน้า)
แม่ : ( นิ่งๆ ไม่ตอบอะไร)
ลูก : (หันมามอง)
แม่ : (เลิกคิ้ว ยิ้มๆ) หืม ตกลง ใครเข็น
ลูก : (มองหน้า) แม่เข็น
แม่ : โอเค ไปกันเลย โอเคมั้ย (ทำมือรอทำท่า hi five)
ลูก :  โอเค (แปะมือตอบ)
แม่ : (ชวนเล่นแปะมือก่อน) เอ้า โอเค แปะๆ (แปะมือซ้าย นับหนึ่งถึงสิบ แปะมือขวานับหนึ่งถึงสิบ แล้วก็แปะสองมือพร้อมกัน นับหนึ่งถึงสิบ ลูกหัวเราะชอบใจ)
แม่ : เอ้าไปกันเลย พร้อมยัง
ลูก : พร้อม
แม่ : (ทำท่าจะไปเข็นที่ล้อหน้า)
ลูก : (เอามือมาจับไม้ไปด้านหลัง)
แม่  : เข็นข้างหน้า
ลูก  : ข้างหลัง
แม่ : อ่อ เข็นข้างหลัง อ่ะ ไปๆๆ (เริ่มเข็น ไปเงียบๆ)
ลูก : เรือใบ (อยากให้ร้องเพลง โอ้ทะเลแสนงาม)
แม่ : อ๋อ ร้องเพลง เอา นาฬิกา หรือ เรือใบ (เสนอเพลงอื่น)
ลูก : เรือใบ
แม่ : โอเค เรือใบ (ร้องเพลงแล้วก็เข็นไป)
แม่ : (เข็นๆหยุดๆ ตอนหยุดก็ถามว่า เอาอีกไหม ไปต่อไหม บางทีก็วิ่งไปแอบ ให้ลูกตามไปจ๊ะเอ๋)
แม่ : (หยุด นั่งลง ทำท่าเหนื่อย) โฮ้ย เหนื่อย หิวน้ำจัง
ลูก : (ยังนิ่งอยู่)
แม่ : โอ้ย หิวน้ำจังเลย น้ำอยู่ไหนน้า
ลูก : (เริ่มมองไปรอบๆ หาขวดน้ำ)
แม่ : โอ้ย หิวน้ำๆ 
ลูก : (หาไม่เจอ เริ่มงอแง)
แม่ : อ้อ รู้แล้ว น้ำอยู่บนโต๊ะนี่เอง
ลูก : (วิ่งงอแง ไปยกขวดน้ำมาให้) (ลืมบอกอารมณ์ ว่าเค้าหงุดหงิด)
แม่ : โอ้ น้ำมาแล้ว ขอบคุณค่า (แม่กินน้ำ)
แม่ : ฮ่า สดชื่นจัง ไปอีกป่าว
ลูก : ไปอีก
(เล่นไปอีกสักพัก แม่แยกส่วนประกอบของไม่เข็นออก แล้วแกล้งทำหล่น)
แม่  : โอ้ย หล่น อ้าว พังเลย
ลูก  : ซ่อมๆ
แม่ : ใครซ่อมดี
ลูก : (ไม่ตอบ จัดการซ่อมเองเลย)
แม่ : อ๋อ น้องตาซ่อมเอง
พอซ่อมแล้วก็เล่นไปอีกซักพักจนเบื่อ 

3. วิ่งไล่จับ (ทั้งไล่จับแม่ แล้วก็จับหมา) : เล่นเอามันอย่างเดียวเลยค่ะ ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อขา หัวเราะลั่นบ้านวิ่งกันไป
4. อื่นๆ ก็เล่นตามไปเรื่อยค่ะ โดยก่อนเล่น แม่จะขอเขาเล่นด้วย "เล่นด้วยได้ไหม" ลูกไม่ตอบก็สะกิด ถามใหม่ เพิ่มเสียง "เฮ้ เล่นด้วยได้ไหม" ลูกบอก"เล่นด้วยๆ" แม่จะถามเขาต่อว่า "ได้ป่ะ" พอเขาตอบว่า "ได้ๆ" ก็จะเล่นกัน บางทีแม่ชวนเขาเล่น "มาเล่นกันเถอะ" "เล่นอะไรดีน้า" ถ้าเขาอยากเล่นอะไร นึกได้เขาจะบอก แต่ถ้าเขานึกไม่ออกแม่ก็เสนอตัวเลือก เช่น "เล่นรถ หรือ เล่นชิงช้า ดีน้า" 
5. หัดให้เขาตอบถามง่ายๆ 
ลูก : จูงมือแม่ จะไปเล่นนอกบ้าน
แม่ : จะไปไหน
ลูก : ไปนู่น (ถามไปไหน เธอจะตอบไปนู่นเอาไว้ก่อนเลย)
แม่  : นู่นอ่ะ ทางไหน 
ลูก  : ไปนู่น (ชี้ไปทางประตู)
แม่ : อ่อ จะไปข้างล่าง ไปทำอะไร
ลูก : (เงียบ)
แม่ : ไปเล่นเหรอ
ลูก : เล่นๆ
แม่ : เล่นอะไร
ลูก : เล่น (เงียบ) ลงบันได
แม่ : อ่อ จะลงบันได จะเล่นน้ำ หรือ เล่นชิงช้า ล่ะ (ให้ตัวเลือก)
ลูก : เล่นน้ำ
แม่ : โอเค ไปกันเล้ย
6.  การเล่นสมมติ : ก็เริ่มจากง่ายๆ ใกล้ๆตัว เช่น ทำท่ากินข้าว ทำท่ากวาดบ้าน ทำท่าป้อนขนมตุ๊กตา (สัตว์) ปั้นแป้งโดว์ เป็นผ้าเช็ดตัวพันตัวตุ๊กตาสัตว์ (เหมือนที่แม่พันผ้าเช็ดตัวให้เขา) เอาตุ๊กตาสัตว์ ทำท่านอน ปั้นแป้งโดว์ เกาะปากกาเคมีไว้ แล้วบอกเป็น ล ลิงไต่ราว (เหมือนที่ตัวเองไปเล่นไต่เสาหลังบ้าน) ปั้นแป้งโดว์เป็นเค้ก เอามาแฮปปี้เบิร์ธเดย์กัน แต่การเล่นยังไม่ต่อเนื่องและเป็นเรื่องเป็นราวค่ะ

 การช่วยเหลือตัวเอง :
   -สวม/ถอด เสื้อ กางเกง รองเท้า เองได้ หลังอาบน้ำ แม่ก็จะแค่เช็ดตัวทาแป้งให้ ลูกก็จะเปิดตู้ เลือกเสื้อกับกางเกงที่ต้องการจะใส่ แล้วก็จัดการใส่เอง (แต่เสื้อที่ติดกระดุมหน้ายังใส่ไม่เป็น แต่พอจะติดกระดุมเองได้ ต้องสวมให้ แล้วรอให้เขาติดเอง นานหน่อยเพิ่งหัด) บางทีแม่ก็เสนอเสื้อผ้าให้ โดยเราจะตั้งชื่อเสื้อผ้าไว้ เช่น เสื้อหมีน้อย เลื้อเป็ด เสื้อม้าลาย กางเกงแตงโม กางเกงไดโนเสาร์ ฯลฯ ถ้าเขาเห็นชอบด้วย ก็จะบอก "เอาๆ" ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ก็จะ "เก็บๆ ไม่เอา" แล้วจะเลือกเองใหม่ มาสวมใส่เอง แม่ก็คอยมองและชมเมื่อทำสำเร็จ ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วแม่ก็ยื่นให้ แล้วก็พูดว่า "อ่ะ" ลูกก็จะรับไปแล้ววิ่งตื๋อไปใส่ตะกร้าผ้ารอซัก 
  - บอกความต้องการ เช่น กินนม กินน้ำ ง่วง ปวดฉี่ ขอให้ช่วยหยิบนู่นนี่ ช่วยแกะ ช่วยเปิด
  -ดื่มน้ำเอง โดยเปิดฝาขวดแล้วเทเองแต่ยังหกเลอะเทอะเพราะว่ายังกะน้ำหนักไม่ถูก พอน้ำหก แม่ก็จะทักว่า "อ้าว เปียกเลย" "ทำงัยดี" ลูกก็จะวิ่งไปหาผ้าขี้ริ้ว มาเช็ด ถ้าหาไม่เจอก็จะไปดึงกระดาษทิชชู่มาเช็ด หรือถ้าบางทีไม่เจออะไรเลย เธอก็เริ่มคว้า เสื้อพ่อบ้าง ผ้าถุงแม่บ้าง ก็คอยเตือนกันไปค่ะ 
  - บอกปวดฉี่ปวดอึบางครั้ง ถ้าเล่นเพลินบางทีก็ไปไม่ทัน ช่วงนี้ไม่ยอมเข้าห้องน้ำ เลยฉี่ใส่กระโถนแทน ส่วนอึ เธอจะต้องอึใส่เพิส เท่านั้น ตอนเธอปวดก็จะวิ่งไปคว้าเพิสมาให้แม่ใส่ให้ ก็จะค่อยๆปรับไปค่ะ
   - การแปรงฟัน ยอมให้แปรงแต่ก็ไม่ค่อยชอบค่ะ
   - การอาบน้ำสระผม เนื่องจากไม่เข้าห้องน้ำ ก็จะอาบน้ำแบบเล่นน้ำมากกว่า ลูกจะเอาถังเล็กๆ ตักราดตัวเอง แม่ก็ช่วยฉีดน้ำใส่ ตอนถูสบู่ ก็บอกให้เค้าถูตัวเอง ก็จะถูแบบลวกๆ แล้วก็เล่นน้ำต่อ สรุป ยังอาบน้ำเองไม่เป็น ส่วนสระผม ยอมให้สระ แต่งอแงนิดหน่อย เวลาสระก็ยืนเงยหน้าเอา แม่จะคอยบอกเขาว่า เงยไว้ๆ น้ำจะไม่เข้าหน้า (แต่เราก็ต้องจับเค้าเงยด้วย) คือพอน้ำไม่เข้าตา เข้าจมูกปาก เค้าเลยยอมค่ะ 
   - การตักอาหารกินเอง ยอมใช้ช้อนตักเองแต่เฉพาะของชอบเช่น ไอศครีม เค้ก แต่ข้าว ยังไม่ยอมตักเอง ต้องกระตุ้นหน่อย เช่น เอ้าตักข้าวด้วย ตักข้าวคำนึง ส่วนการกินอาหาร ก็ยังถือว่าไม่หลากหลาย ดีว่า ยอมกินเนื้อสัตว์บ้าง กินหมู ไก่ ปลาที่ไม่คาวได้ แต่ต้องเล็กๆ ผักไม่กิน แต่ผลไม้พอกินได้ ต้องให้กินนมเสริมแทนค่ะ
  - การสวัสดี บ๊ายบาย ขอบคุณ ส่งจูบ แต่ต้องคอยกระตุ้นบ้างค่ะ (แทรกระหว่างวัน)
   
 อารมณ์และความรู้สึก : 
ร่าเริงขึ้นเยอะค่ะ ชอบเล่น ยิ่งดึกยิ่งคึก แสดงอารมณ์ได้ดีขึ้น ติดพ่อแม่มากขึ้น ลูกมานั้วเนี้ย นั่งตักนอนตัก ชบพุง จิ้มหน้าจิ้มตา จิ้มจมูกปากเล่น ตามหาปะป๊าเวลาไม่อยู่ พอปะป๊ากลับจากทำงานก็ดีใจ รีบเข้าไปชวนเล่นทันที บอกได้บางอารมณ์ เช่น กลัว บอกความรู้สึก เช่น เจ็บ ร้อน เย็น คัน ง่วง ตรงนี้ช่วงนี้แม่จะเน้นบอกอารมณ์ที่เขาแสดงออกมาว่ามันมีชื่อว่า อย่างนี้ๆ ชอบ ไม่ชอบ ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด โมโห ลูกยังบอกไม่ได้ค่ะ จะค่อยๆทำไปค่ะ

การแก้ปัญหาด้วยตัวเองและการขอความช่วยเหลือ : 
- แก้ปัญหาง่ายๆ ได้ เช่น แกะถุงขนมเอง (มัดหลวม) เปิดขวดน้ำกินเอง เอาขันตักน้ำในถังกินเอง กางโต๊ะญี่ปุ่น เอาเก้าอี้มาต่อหยิบของ ถ้าทำไม่ได้ก็จะมาตามปะป๊าหรือแม่ไปช่วย (ก็จะเพิ่มหยิบผิดแกล้งงงไป)

การฟังและความเข้าใจในคำพูด : 
- พอจะฟังคำสั่งขั้นตอนเดียวรู้เรื่องและทำตามได้ เช่น ไปกินน้ำ ไปล้างมือ หยิบ.. ให้หน่อย ปิดประตูด้วย แม่จะค่อยๆเพิ่มเป็นสองคำสั่ง เช่น เช็ดแล้วเอาไปทิ้งด้วย หยิบไม้กวาดกับที่ตักให้แม่หน่อย
- พอจะจับคำสำคัญที่พ่อแม่คุยกันได้ เช่น แม่บอกว่า ก่อนนอนต้องเช็ดตัวเสียหน่อย หรือบอกเดี๋ยวต้องล้างหน้าแปรงฟัน ก็จะวิ่งจู๊ดหนีไปเลย (ไม่ชอบเช็ดตัว ไม่ชอบฟัน) หรือถ้าพูดถึง "ไอติม" จะหันควับมาเลย
- การเชื่อมโยงเรื่องง่ายๆ เช่น 
   แม่ " โอ๊ย เจ็บ" ลูก "เป่าปู้ด"
   แม่ " ร้อนจัง ทำไงดี" "เปิดพัดลม หรือ เปิดไฟ ดีน้า" ลูก "เปิดพัดลม"
   แม่ " มืดตึ๊ดตื๋อเลย ทำงัยดี" ลูก "เปิดไฟ"
   แม่ " อ้าวน้ำหก เปียกเลย" ลูก "เช็ดๆ"
   แม่ " อ้าว พังเลย เสียแล้วเนี่ย" ลูก "ซ่อมๆ"
   แม่ (หยิบด้ายที่หลุดรุ่ยบนเสื้อลูก ให้ลูกดู) "ทำไงดี" ลูก "ตัดชึ่บ"

ยิ่งพิมพ์ยิ่งเยอะ สรุปคือ ตอนนี้ ถ้าเทียบจากจุดเริ่มต้นที่เดินมา (ที่เรียกได้ว่า แทบไม่มีอะไรเลยสักอย่าง) มาวันนี้ เราพ่อแม่ลูก ก็เดินกันมาไกลพอสมควรจากจุดนั้น และแน่นอน ทางยังอีกไกล ต้องเดินทางกันต่อไปค่ะ แต่ก็มีพ่อแม่รุ่นพี่ๆ เป็นต้นแบบให้ ทำให้ทางไม่ยากลำบากจนเกินไป จะพยายามต่อไปค่ะ 

อ้อ ขอให้อาจารย์กิ่งแก้ว (รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ)ชี้แนะด้วยค่ะ ถ้ามีอะไรที่ควรแก้ไขปรับปรุงช่วยกรุณาบอกทีค่ะ

ปล. คิดถึงหมอแก้วตา มว้ากกกก (ขออนุญาตภาษาวิบัติซักคำเพื่อ  feeling ที่แท้จริง 555)
ta-mom
 
โพสต์: 61
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 02 ก.พ. 2012 3:07 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย กิ่งแก้ว » พฤหัสฯ. 06 มิ.ย. 2013 3:30 pm

ดีค่ะ ทำได้เป็นระบบดี โดยมีอารมณ์ลื่นไหลดีค่ะ รักษาสมดุลไว้ให้ดี อย่าทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะอารมณ์นิ่ง ๅ soft บางเบา และคึกครึ้นบ้าบอค่ะ
กิ่งแก้ว
 
โพสต์: 865
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 07 ต.ค. 2011 6:48 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย ta-mom » พุธ 03 ก.ค. 2013 3:44 pm

ความก้าวหน้า (เล็กๆน้อยๆ) ในช่วงนี้

ด้านร่างกาย - ปั่นสามล้อเล็กได้แล้วค่ะ ปั่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ ถ้าคึกๆ หน่อย ก็จะปั่นเร็วๆ แรงๆ พอเข้าโค้งบางทีก็มีดริฟท์แหกโค้งไปบ้างแต่ก่อนจะล้มลูกจะรีบลุกจากรถก่อน พอปั่นรถได้แม่รู้สึกว่า ขาเขาแข็งแรงขึ้นมาก การวิ่ง การเดินขึ้นลงบันได้ ดูคล่องแคล่วขึ้น ไม่ค่อยงุ่มง่ามเหมือนก่อน

การสื่อสารด้วยคำพูด - สามารถบอกความต้องการพื้นฐานของเด็กๆ ได้ดีขึ้นมาก เช่น " หิว อยากกินนม" "กินข้าว" "กินน้ำ" "ปวดฉี่" "ปวดอึ" อะไรที่ไม่ต้องการ ก็จะยืนยันปฏิเสธว่า "ไม่เอา" พูดได้เป็นประโยคยาวๆ (ตามที่แม่สอน) ได้บ้าง เช่น "แม่อุ้มน้องตาหน่อยค่ะ" "ช่วยแกะหน่อยค่ะ" "ขี่หลังป๊าหน่อยค่ะ" มาถึงตรงนี้ ความกังวลของแม่เลยเกิดขึ้น สิ่งที่กังวลคือ "การพูดโดยจำสคริปต์" เพราะตอนนี้ ลูกอยากให้ทำอะไรให้ เธอจะเติมคำว่า "หน่อยค่ะ" ลงท้ายประโยคตลอด กับตอนอยากได้ของ ก็จะ "ขอบคุณค่ะ" ตลอด ทางแก้ที่เคยอ่านในเว็บมาก็คือ กลับไปตื๊อยื้อและ ใช้ภาษากายมากๆ เลยลองดู 

แม่ - (ถือหนังสือที่ลูกชอบมาโชว์)
ลูก - (พนมมือ ยิ้ม ) ขอบคุณค่ะ (เอาแล้วไง)
แม่ - เอาอะไร
ลูก - ขอบคุณค่ะ
แม่ - อยากได้นี่เหรอ (โชว์หนังสือ)
ลูก - ขอบคุณค่ะ
แม่ - อยากได้เหรอ 
ลูก - อยากได้
แม่ - อยากได้ทำไงดี 
ลูก - ขอบคุณค่ะ
แม่ - อ๋อ จะขอหนังสือ (ไม่ทราบว่าชี้นำเกินไปหรือเปล่า)
ลูก - ขอค่ะ
แม่ - ขออะไรคะ
ลูก - ขอบคุณค่ะ
แม่ - จะขออะไร (โชว์หนังสือ)
ลูก - ขอหนังสือ
แม่ - อ่อ จะเอาหนังสือ อ่ะให้ (ยื่นให้)
ลูก - (ยื่นมือมาหยิบ แม่แกล้งไม่ปล่อย)
ลูก - ปล่อยๆ
แม่ - อ่ะ ปล่อย

อยากขอคำแนะนำ หรือมุข จากทุกๆท่านเลยนะคะ จะแก้ยังไงดี และที่ทำอยู่นี่ควรแก้ไขตรงไหนบ้าง

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการพูดของเขา แม่ก็จะพยายามพูดคุยให้เยอะมากที่สุด นิดหน่อยเจ๊าะแจ๊ะไปเรื่อย ตอนดูหนังสือก็เริ่มถามสิ่งที่มีในหนังสือก่อน เช่น น้องทำอะไร (ก่อนหน้าก็จะอ่านให้เขาฟังแล้วบอกว่า นี่ น้องเล่นน้ำ น้องกิน น้องนอน ฯลฯ) ไหน ลูกบอลอยู่ไหน ลูกก็พอตอบได้บ้าง 

บางทีลูกก็พูดอะไรมากมายที่เขานึกได้ออกมา คือไม่ได้พูดคนเดียว แต่พูดให้แม่ฟังและให้แม่ทวนคำด้วยเพื่อยืนยันว่าเรารับรู้แล้ว อีกอย่าง ช่วงนี้ ถ้ามีสิ่งของหรือรูปที่เขาไม่รู้จัก เขาจะชี้และทำหน้าสงสัย แม่ก็จะบอกว่า "อ๋อ นี่คือ ..." บางทีก็ทำเสียง อึ้มๆ แล้วชี้ บางทีก็มั่วพูดชื่ออื่นไปเลย แม่ก็จะบอกว่า "ไม่ใช่ อันนี้คือ ..." แต่ยังถามว่า "นี่อะไร" ไม่เป็น อยากขอคำแนะนำด้วยค่ะ 

การเลียนแบบและเล่นสมมติง่ายๆ - ก็พยายามให้ลูกเลียนแบบท่าทางของแม่อยู่ ซึ่งเขาก็ทำได้ เพราะแม่จะพยายามทำให้มันสนุกตลกๆ จะได้ไม่เหมือนบังคับฝึกจนเกินไป เช่น อุ้มเขาไปที่กระจกโต๊เครื่องแป้ง ให้เห็นหน้าสองคน แม่ก็จะเริ่ม "เอ้า ยิ้มหยี่ " แม่ก็ทำด้วยลูกก็ยิ้มตาม อย่างอื่นก็ "อ้าปาก" "จู๋ปาก" "แลบลิ้น แบร่ๆ" "บ๊ายบาย" "ส่งจูบ" "ชูสองนิ้ว (ท่าสู้ตาย)" พอทำเสร็จ ก็หอมแก้มพร้อมชมเชย ตอนนี้กำลังหัดทำท่าใหญ่ เล็ก มาก น้อย อยู่ค่ะ 

เรื่องเล่นสมมติ ก็ยังคงเป็นเรื่องง่ายๆ ยังไม่ซับซ้อนเป็นเรื่องเป็นราวค่ะ เช่น เอาอ่างกลมๆ มาใส่หัว แล้วบอกว่าตัวเอง "เป็นทหาร" หรือปั้น ดินน้ำมันแปะหัว ตุ๊กตาเพนกวิน แล้วบอกว่าเป็น ทหาร (พูดบ่อย หลังๆเริ่มหลุดมาแล้วว่า กลัวทหาร) บางทีก็ เลียนแบบภาพในหนังสือ เช่นในภาพมีรถหงายท้อง มีบอล มีตุ๊กตา ลูกก็จับสามล้อเล็กมาหงายท้อง แล้วตัวเองก็นอนลง ชี้ตัวเองว่า "เป็นตุ๊กตา" แม่ก็จะได้แต่ "อ๋อ น้องตาเป็นตุ๊กตา" บางทีก็พูดขึ้นมา ชี้ตัวเองว่า "เป็นโบ้โบ้" เป็นนู่นเป็นนี่ อีกหลายอย่าง แม่ก็พยายามเล่นด้วย "อ่อ น้องตาเป็นโบ้โบ้ อ้าวแล้วแม่เป็นอะไรล่ะ" บางทีเค้าก็บอกให้แม่เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง หรือบางทีก็ไม่ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลย

การแสดงอารมณ์ - ช่วงนี้เวลาลูกรู้สึกไปในด้านลบ อาจจะกลัวหรือหวาดหวั่นอะไรบางอย่าง หรือต้องการความอบอุ่น ก็จะเรียกให้ปะป๊าหรือแม่เข้ามาแล้วบอก "กอดกัน" เราก็จะกอดเค้าให้นานที่สุดจนกว่าเค้าจะปล่อยเราเองค่ะ ช่วงนี้ดูเหมือนลูกเองก็ชอบที่แม่มากอดหอมเค้าบ่อยๆ แม่ก็จะกอดหอมแล้วก็บอกรักลูกทุกครั้ง "แม่รักน้องตาคนเดียวเลยน้า รักที่สุดเลย" ลงท้ายแอบถามว่า "รักแม่มั้ยคะ" บางทีลูกก็ยิ้มๆ ไม่ตอบ บางทีก็พูดตามว่า "รักแม่" 

ส่วนอารมณ์อื่นๆ แม่ก็จะพยายามสอบถาม และพูดบอกให้เค้ารู้จักอารมณ์อื่นๆให้ได้มากที่สุด

อีกข้อกังวลหลักคือ พอเค้ารู้เรื่องขึ้นมากแล้ว พ่อแม่เองจะเกิดปัญหา "ชะล่าใจ" ซึ่งดิฉันพยายามเตือนตัวเอง และเข้าเวบบอร์ดตลอดๆ บอกตัวเองว่า "ดูสิ ขนาดคุณน้อต คุณกรองกาญจน์ แม่น้องสายป่าน ฯลฯ เขาไปไกลขนาดนั้นแล้ว ยังต้องทำงานกันอยู่เลย ส่วนเราจมูกเพิ่งพ้นจากน้ำ พลาดเมื่อไหร่คงจมน้ำได้ตลอด " อยากให้อาจารย์กิ่งแก้ว มอบวลีเด็ดไว้เตือนใจแม่ไว้ซักอันด้วยเถอะค่ะ
ta-mom
 
โพสต์: 61
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 02 ก.พ. 2012 3:07 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย กิ่งแก้ว » พุธ 03 ก.ค. 2013 4:28 pm

ก็ตื๊อยื๊อ ขำ ๆ กันไป หลายคน หลายมุข หนึ่งคน ต่างเวลา ต่างมุข เอาเป็นว่าใน 1 โมเมนต์ ได้ส่วนแปลกใหม่มา 1 รอบการสื่อสาร ก็โอเคคะ

ไม่มีคาถา มีแต่แนวทาง คือให้พาไปเล่นกับเด็กเพศเดียวกัน รุ่นราวคราวเดียวกัน เดี๋ยวก็รู้ว่า "งานอะไรเข้า" ค่ะ
กิ่งแก้ว
 
โพสต์: 865
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 07 ต.ค. 2011 6:48 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย krongkan » พุธ 03 ก.ค. 2013 4:36 pm

ยืนยันคำตอบของคุณหมอค่ะ พาออกเผชิญโลกเยอะๆ เดี๋ยวก็รู้ค่ะว่ายังเหลืองานอะไรอยู่
krongkan
 
โพสต์: 141
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 17 ต.ค. 2011 8:36 am

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย krongkan » พุธ 03 ก.ค. 2013 4:54 pm

คุณแม่เก่งออกค่ะ รู้จักเอะใจ รู้จักหาคำตอบ ทำต่อไปแหละค่ะ เดี๋ยวก็เจอคำตอบที่สงสัยเอง เคยมีคุณแม่รุ่นพี่บอกดิฉันค่ะว่า ทำเถอะค่ะ

ได้คืนมาทั้งหมดทั้งต้นทั้งดอกไม่ต้องห่วง มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ค่ะ งงมั่ง ชัดมั่ง สุขมั่ง ทุกข์มั่ง ก็ทำไปเถอะค่ะ
krongkan
 
โพสต์: 141
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 17 ต.ค. 2011 8:36 am

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย ta-mom » อาทิตย์ 21 ก.ค. 2013 3:42 pm

เมื่อวานน้องตาได้มีโอกาสเล่นกับเด็กแบบ 1 ต่อ 1 ค่ะ เป็นลูกสาวของพี่สามี อายุประมาณ 3 ขวบ

จำนวนโหลดคนแปลกหน้าคือ 4 คน มี ย่า ลุง ป้า และ หลานตัวเล็ก

เข้ามาทีแรกน้องตากำลังขี่สามล้ออยู่ พอคนมาเยอะ รีบขี่ไปหลบซอกตู้เลย แล้วก็วิ่งไปตะกายขี่หลังปะป๊า ปะป๊าก็เดินแบกไปแบกมาพักนึง แม่เลยบอกให้ผู้ใหญ่ (โดยเฉพาะคุณย่าที่อยากอุ้มหลาน) นั่งลงนิ่งๆ อย่าไปจู่โจมเค้า คุยกันเองไปก่อน แล้วแม่ก็ชวนน้องหลบออกไปไกลอีกนิด (แต่ยังพอมองเห็น) ไปนั่งกินไอติมสงบสติก่อน เสร็จแล้ว น้องก็พอรับโหลดได้ มีปลีกตัวไปเป็นระยะ พอน้องพอทนได้ แม่ก็เริ่มชวนเล่นกับหลาน ทีแรกก็ ขี่รถตามกัน (ส่วนใหญ่หลานขี่ตาม ลูกเราขี่หนี555) สักพักแม่เอาแป้งโดว์ มาให้นั่งปั้นนั่งกดเล่นใกล้ๆกัน แล้วก็พยายามชี้ชวนให้ดูว่าหลานเขาทำอะไร ซักพักย่าขอเข้ามาร่วมวงด้วย น้องเลยพอจะนั่งกับย่าได้ ก็โชคดีที่มีเวลาทั้งครึ่งวันบ่าย น้องตาก็เริ่มชินกับแขกที่มา ก็เล่นสนุกแม่ได้ตามปกติ เหมือนตอนที่ไม่มีแขกมา ส่วนหลานมาติดใจเราซะงั้น ประมาณว่า เดินตามมาเล่นด้วย มาขอกินโยเกิร์ตกับน้องตา (แม่ผลัดป้อนคนละคำ แอบสอนเรื่อง take turn) ส่งสายตาให้ปิ๊งๆ อีก ถ้าไม่รู้จัก FT คงเล่นกะเด็กไม่เป็นแน่ๆ (เด็กปกติต่อติดง่ายมากๆ) ตอบขากลับ แม่ชวนหลานบอกว่า ไว้มาหาน้องตาอีกนะ มาเล่นกับอาด้วย หลานก็ยิ้มเขินๆ

สรุปเมื่อวานน้องก็ได้มีโอกาสรับโหลดไปหลาย ชม และแม่ก็ได้เปรียบเทียบและก็เตรียมว่าจะต้องทำงานอะไรต่อไปได้หลายอย่างทีเดียว
ta-mom
 
โพสต์: 61
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 02 ก.พ. 2012 3:07 pm

Re: แม่น้องตา ขอคำแนะนำค่ะ

โพสต์โดย กิ่งแก้ว » อาทิตย์ 21 ก.ค. 2013 5:33 pm

:D
กิ่งแก้ว
 
โพสต์: 865
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 07 ต.ค. 2011 6:48 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ถาม-ตอบ



cron